นัยสำคัญทางกฎหมายจากคำพิพากษาศาลปกครองในคดีเกี่ยวกับการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบกลาง  (ADMISSIONS)

อันเนื่องมาจากเกิดข้อพิพาทในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา ระดับปริญญาตรี  ระบบกลาง  ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดเลือกจากเดิมสอบแข่งขันในระบบ ENTRANCE  ซึ่งนักเรียนต้องสอบแข่งขันเพียงปีละ ๑ ครั้ง  ไปเป็นระบบ  ADMISSIONS ที่ใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย  (GPAX)  ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (GPA) ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) และผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา  ๒๕๔๙  เป็นต้นไป  จึงเกิดมีคดีฟ้องต่อศาลปกครองระยอง  (คดีหมายเลขดำที่ ๒๐๑/๒๕๕๐ , ๑๒/๒๕๕๑  คดีหมายเลขแดงที่  ๑๒๙-๑๓๐/๒๕๕๒)  โดยนักเรียนผู้ฟ้องคดีทั้ง ๔๖ คน ฟ้องที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑  สถาบันอุดมศึกษาอีก ๒๑ แห่ง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่  ๒ –  ๒๒  และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่  ๒๓  ในเรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้เปลี่ยนการสอบคัดเลือก เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจากระบบ ENTRANCE  มาเป็นระบบ ADMISSIONS มีเนื้อหาว่าการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระบบ  ADMISSIONS  ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม

ดังนั้น การจะพิจารณาเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง ADMISSIONS ตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยองที่ให้ข้อวินิจฉัยและประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ศาลปกครอง อำนาจหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดี ตลอดจนการพิจารณาถึงความเป็นธรรมตามกฎหมาย  ซึ่งได้วินิจฉัยแต่ละลำดับดังต่อไปนี้

ประเด็นข้อพิพาท

๑.   ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้หรือไม่   และเงื่อนไขแห่งการฟ้องคดีครบถ้วนหรือไม่

๒.  ความชอบด้วยกฎหมายของการกำหนดเปลี่ยนแปลงค่าน้ำหนักขององค์ประกอบที่ใช้คัดเลือก

๓   การนำคะแนน GPAX  และคะแนน  GPA มาใช้คัดเลือก ไม่เป็นธรรม

๔.  ความเหมาะสมของการนำผลทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือก

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

ประกาศลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗ ให้นำระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ระบบกลาง  (ADMISSIONS) มาใช้แทนการสอบแข่งขันระบบ  ENTRANCE  โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา  ๒๕๔๙  เป็นต้นไป

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๒

มาตรา ๙ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐและให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง

“คำฟ้อง” หมายความว่า การเสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้ง หรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยความสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่

มาตรา ๗๒ ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

  • พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

มาตรา  ๒๖ ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐

ส่วนที่ ๘ สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา

มาตรา ๔๙ ” บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิ ตามวรรคหนึ่ง  และการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น

การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน   การศึกษาทางเลือกของประชาชน   การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ ”

อำนาจหน้าที่

๑. อำนาจหน้าที่ศาลปกครอง

การที่นักเรียนผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องอยู่ภายใต้คำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๒ 

๒.  อำนาจหน้าที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ที่ประชุมอธิการบดีเป็นองค์กรอิสระไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือ ความคิด การสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวกับกิจการอุดมศึกษาของประเทศที่เป็นความสนใจร่วมกัน  และยึดหลักความเป็นอิสระของแต่ละสถาบัน และจะเสริมและสนับสนุนกัน  เพื่อประโยชน์โดยส่วนรวมของระบบการอุดมศึกษาของประเทศ บทบาทของที่ประชุมอธิการบดีฯ นั้นจึงขึ้นอยู่กับบทบาทของมหาวิทยาลัย/สถาบันสมาชิกเป็นหลักสำคัญ บทบาทและการดำเนินงานของที่ประชุมอธิการบดีฯ ในอดีตที่ผ่านมา ปรากฏว่ายึดมั่น และสอดคล้องกับหลักการที่กล่าวมาแล้วเป็นอย่างดี

๓. อำนาจหน้าที่สถาบันอุดมศึกษา

มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยมีบทบัญญัติว่าให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง  สร้างบัณฑิต  วิจัย เป็นแหล่งรวมสติปัญญา และบริการทางวิชาการแก่สังคม  และมีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาได้เองตามที่เห็นสมควรโดยในการดำเนินการกำหนดให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะให้มีหน้าที่วางนโยบายและอนุมัติแผนพัฒนาเกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง  ดังนั้น ในการออกข้อกำหนดใดๆ เพื่อการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของมหาวิทยาลัย ที่อาจออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกได้ตามที่เห็นสมควร และมีหน้าที่รับนโยบายและปฏิบัติตามมติของที่ประชุมอธิการบดีด้วย

๔. อำนาจหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นหน่วยงานของรัฐ ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (ADMISSIONS)

ประเด็นข้อวินิจฉัย

๑. ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้หรือไม่   และเงื่อนไขแห่งการฟ้องคดีครบถ้วนหรือไม่

นักเรียนผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนผ่านชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติโดยขอให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกฯ และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงต่อสื่อมวลชนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกฯ และผู้ฟ้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี  ศาลมีอำนาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาด้วยเหตุผลดังนี้

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นคณะบุคคลซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนของสถาบันอุดมศึกษาที่ถูกฟ้องคดีและเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๒  เมื่อมหาวิทยาลัยที่ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งและมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกฯ ตามที่เห็นสมควร  ดังนั้น การที่สถาบันอุดมศึกษาที่ถูกฟ้องคดีออกข้อกำหนดตามมติของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยให้นำระบบ ADMISSIONS มาใช้คัดเลือกฯ  และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกแทน ข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยที่ถูกฟ้องคดีย่อมมีสภาพเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ศาลปกครองย่อมมีอำนาจตรวจสอบการกระทำทางปกครองดังกล่าว

๒.  ความชอบด้วยกฎหมายของการกำหนดเปลี่ยนแปลงค่าน้ำหนักขององค์ประกอบที่ใช้คัดเลือก

ศาลปกครองระยองได้วินิจฉัยให้เหตุผลดังนี้

ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย  (GPAX)  และผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (GPA) โดยมีค่าน้ำหนักรวมร้อยละ ๓๐ ได้มาจากผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นความเพียรของนักเรียนที่ตั้งใจเรียนวิชาต่างๆ จนครบหลักสูตรตลอดเวลา ๓ ปีเต็ม ย่อมมีผลโดยตรงต่อการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) และผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) โดยมีค่าน้ำหนักรวมร้อยละ ๗๐ ได้มาจากคะแนนการสอบแบบทดสอบทางการศึกษา โดยใช้ข้อสอบกลาง คะแนนส่วนนี้สะท้อนถึงความรู้และความสามารถของนักเรียนแต่ละคนที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

ดังนั้น  องค์ประกอบทั้งสองส่วนดังกล่าว  สามารถใช้วัดความรู้และความตั้งใจในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗ กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาให้โรงเรียน นักเรียนและบุคคลทั่วไปทราบล่วงหน้าว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๙  ว่าจะใช้ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (ADMISSIONS) ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่มีระบบสอบแข่งขัน (ENTRANCE) แสดงว่านักเรียนทั่วประเทศต่างได้รับทราบหลักเกณฑ์ดังกล่าวและมีโอกาสแข่งขันเพื่อให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมที่ดีและมีโอกาสสอบแบบทดสอบทางการศึกษาเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้อย่างเสมอภาค นอกจากนั้น การนำองค์ประกอบทั้งสองส่วนมาใช้คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยยังเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกต พฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา และวรรคสอง ที่บัญญัติให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ และให้นำผลการประเมินผู้เรียนตามวรรคหนึ่งมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย  ดังนั้น  การกำหนดเปลี่ยนแปลงค่าน้ำหนักขององค์ประกอบที่ใช้คัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเมื่อได้ประกาศแจ้งประชาสัมพันธ์ให้โรงเรียน  นักเรียน  และบุคคลทั่วไปทราบล่วงหน้าก่อนเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ดังกล่าวประมาณ ๓ ปี เป็นระยะเวลาเพียงพอที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีเวลาในการเตรียมตัว จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

•๓ การนำคะแนน GPAX  และคะแนน  GPA มาใช้คัดเลือก ไม่เป็นธรรม

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว  ศาลปกครองระยองได้วินิจฉัยให้เหตุผลดังนี้

เนื่องจากโรงเรียนแต่ละแห่งให้เกรดนักเรียนไม่ได้มาตรฐานเดียวกันนั้น เห็นว่า เมื่อโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศเป็นผู้ออกข้อสอบและประเมินหรือให้คะแนนนักเรียนกันเอง ย่อมไม่สามารถทำให้คะแนนหรือผลการประเมินนักเรียนอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้คะแนนดิบ คะแนนเป็นร้อยละ หรือคะแนนเป็นเกรดก็ตาม แต่ก็เชื่อได้ว่าโรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องพยายามรักษาคุณภาพของโรงเรียนโดยการประเมินผลการเรียนและให้เกรดนักเรียนของตนให้อยู่ในมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากจะมีการตรวจสอบและประเมินผลการให้เกรดนักเรียนของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศอยู่แล้ว โดยมีการจัดสอบนักเรียนทุกคนที่จบการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖  ด้วยการใช้แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในแต่ละปี ประกอบกับเมื่อพิจารณาคะแนน GPAX  และคะแนน  GPA ที่นำมาใช้ในระบบ ADMISSIONS แล้วเห็นว่ามีค่าน้ำหนักรวมเพียงร้อยละ ๓๐ เท่านั้น ส่วนคะแนนที่ได้จากการสอบ คือ คะแนน O-NET และ A-NET  มีค่าน้ำหนักรวมถึงร้อยละ ๗๐ กรณีจึงสามารถใช้ถ่วงค่าน้ำหนักคะแนนที่ได้จากให้เกรดของโรงเรียนต่างๆ ได้

ประเด็นที่ว่านักเรียนที่ได้คะแนนผลการเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ และปีที่ ๕ ไม่ดี จะไม่มีโอกาสแก้ตัวในการเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๖ หรือนักเรียนที่เลือกเรียนสายศิลป์จะไม่มีโอกาสเปลี่ยนไปเรียนสายวิทย์ นั้น  เห็นว่าการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะใช้ระบบ ENTRANCE  มาเป็นระบบ ADMISSIONS ต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ตามเหตุผลที่คู่กรณียกขึ้นกล่าวอ้างและไม่อาจหาข้อยุติได้ว่าระบบใดเป็นระบบที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การเปลี่ยนแปลงการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาจากระบบ ENTRANCE  เป็นระบบ ADMISSIONS ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องการศึกษาและโรงเรียนต่างๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และกระทรวงศึกษาธิการมีประกาศลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗ กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาฯ มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๙ เป็นต้นไปให้ใช้ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (ADMISSIONS) โดยไม่มีระบบสอบแข่งขัน  (ENTRANCE)  ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเรียนทั่วประเทศที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ และประสงค์จะสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในปีการศึกษา ๒๕๕๑ ให้รู้หรือควรรู้ถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกฯ ในระบบ ADMISSIONS ได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวอ้างถึงผลการเรียนที่ผิดพลาดหรือการเลือกสายการเรียนที่ผิดพลาดได้

ส่วนประเด็นการแปลงคะแนน GPAX  และคะแนน  GPA ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันนั้น  เห็นว่าระบบการศึกษาของประเทศกำหนดให้ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กำหนดหลักเกณฑ์การให้คะแนนนักเรียนเป็นเกรด คือ เกรด ๑ ถึง เกรด ๔ เพื่อให้นักเรียนนำไปใช้อ้างอิงในการศึกษาต่อ และเมื่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  และสถาบันอุดมศึกษาทั้ง ๒๑ แห่ง ออกข้อกำหนดให้นำผลการเรียนของนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงต้องนำคะแนนที่ให้เป็นเกรดมาใช้ในการคัดเลือกฯ ส่วนการแปลงค่าจากคะแนนเกรดเป็นคะแนนร้อยละ เห็นว่าวิธีการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ถือได้ว่าเป็นหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องวิธีการหนึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงสามารถนำมาใช้ในการคำนวณเพื่อให้คะแนน  GPAX  และคะแนน  GPA มีหน่วยเป็นร้อยละเช่นเดียวกับคะแนน O-NET และ  A-NET ได้  โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงที่มาของเกรดและไม่ถือว่าเป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันแต่ประการใด แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าวิธีการคำนวณดังกล่าวไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเพราะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันบ้าง โดยมีข้อเสนอแนะให้ใช้วิธีการคำนวณรูปแบบอื่นแทนนั้น เห็นว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นเรื่องที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สถาบันอุดมศึกษาทั้ง ๒๑ แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ควรที่จะรับไปพิจารณาปรับปรุงวิธีการคัดเลือกให้มีการเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

โดยในชั้นนี้ เมื่อได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณดังกล่าวถูกต้องตามวิธีการคำนวณดังกล่าวถูกต้องตามรูปแบบและวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์แล้ว ศาลย่อมไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปพิจารณาสั่งการให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นอำนาจดุลพินิจฝ่ายบริหาร

๔.  ความเหมาะสมของการนำผลทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือก สำหรับประเด็นที่ว่า ผลการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั้งของโรงเรียนและนักเรียน  การที่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)สถาบันอุดมศึกษาทั้ง ๒๑ แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้นำคะแนน O-NET ในปีที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เท่านั้น มาใช้คัดเลือกฯ ทำให้นักเรียนที่สอบแล้วได้คะแนนไม่ดี หรือ นักเรียนที่ขาดสอบไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หมดโอกาสในการสอบแก้ไขในปีถัดไปนั้น ศาลปกครองระยองมีความเห็นว่า แม้การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานจะมีวัตถุประสงค์เป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั้งของโรงเรียนและนักเรียนก็ตาม แต่การทดสอบดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการสอบแข่งขันนักเรียนทุกคนโดยใช้ข้อสอบกลางเหมือนกันทั่วประเทศ ดังนั้น คะแนน  O-NET จึงสามารถใช้วัดความรู้และความสามารถของนักเรียนแต่ละคนได้ นอกจากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการเปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในระบบ ADMISSIONS ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนทั่วประเทศทราบถึงหลักเกณฑ์ในการให้สอบ O-NET ได้เพียงครั้งเดียวในปีที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็นับได้ว่าเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ดังนั้น  หากมีนักเรียนคนใดเข้าสอบ O-NET แล้วได้คะแนนไม่ดี หรือนักเรียนที่ขาดสอบเพราะติดภารกิจใดๆ ย่อมไม่อาจกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

กรณีนักเรียนที่ขาดสอบเนื่องจากภาวะการเจ็บป่วย เห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีบุคคลใดสามารถควบคุมไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สถาบันอุดมศึกษาทั้ง ๒๑ แห่ง และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่จะพิจารณาหาวิธีการเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่นักเรียนที่ขาดสอบเนื่องจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าว

ส่วนกรณีที่อ้างว่า เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการศึกษาตามมาตรา ๔๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ นั้นเห็นว่า มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สถาบันอุดมศึกษาทั้ง ๒๑ แห่ง และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  มิใช่การศึกษาขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว และไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และมาตรา ๔๙ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชนการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษามิได้มีวิธีการคัดเลือกในระบบ ADMISSIONS แต่เพียงช่องทางเดียว หากยังมีการสอบระบบรับตรงและระบบโควตาของมหาวิทยาลัยต่างๆ  ที่นักเรียนทั่วประเทศสามารถสอบแข่งขันเพื่อเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ รวมทั้งยังมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่รับนักศึกษาในระบบเปิดและมีมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งที่เป็นทางเลือกให้สามารถสมัครเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อีกกลายช่องทาง ข้ออ้างของนักเรียนผู้ฟ้องที่ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการศึกษาตามรัฐธรรมนูญจึงรับฟังไม่ได้นัยสำคัญของคำวินิจฉัยที่มีต่อการรับบุคคลเข้าศึกษาในระบบกลางและกำหนดเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองระยองที่มีต่อคดีแล้วจะเห็นได้ว่า  ผู้ที่จะถูกฟ้องคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการรับบุคคลเข้าศึกษาในระบบกลางและกำหนดเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องนั้น จะได้แก่

๑.  ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะถูกฟ้องเป็นอันดับแรกในฐานะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์การรับบุคคลเข้าศึกษาโดยการกำหนดจะมาจากมติที่ประชุมอธิการบดีเพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระบบกลาง

๒.  สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นต้นสังกัดของอธิการบดีที่เป็นส่วนหนึ่งของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็จะถูกฟ้องด้วยเช่นกัน กล่าวคือ มติของที่ประชุมอธิการบดีจะมีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบทบาทของมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาเป็นหลักสำคัญเพราะสถาบันอุดมศึกษาจะเป็นผู้รับนโยบายอันเป็นมติร่วมกันมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นจริงจังหรือเป็นรูปธรรมขึ้นมา ดังนั้น หากเกิดข้อพิพาทขึ้นก็จะถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้วย

๓.  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เนื่องจากเป็นผู้รับนโยบายจากที่ประชุมอธิการบดีเพื่อดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา

๔.  สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)  น่าจะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่อาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เนื่องจากสำนักงานทดสอบฯ เป็นผู้ดำเนินการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และจะดำเนินการจัดสอบเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น ซึ่งในการจัดสอบดังกล่าวผู้เข้ารับการคัดเลือกหรือผู้ปกครองอาจเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิในการคัดเลือกหากพลาดโอกาสในการสอบ

สำหรับแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องคดีเกี่ยวกับการรับุบคคลเข้าศึกษาต่อศาลปกครองนั้น เห็นว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีแผนและกำหนดนโยบายที่ชัดเจนพร้อมแจกแจงรายละเอียด ความสำคัญ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ มากกว่าที่เป็นอยู่   เช่น

๑.   วางแผนก่อนการดำเนินงานโดยมีการประกาศหลักเกณฑ์และคุณสมบัติการสมัครเข้าศึกษาไว้ล่วงหน้า

๒.  แจ้งและประชาสัมพันธ์ให้ผู้สมัครทั้งหลายทราบถึงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติการสมัคร หากจะมีการเปลี่ยนแปลงควรประกาศไว้ล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า ๑  ปี สำหรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์เพียงเล็กน้อย และไม่ต่ำกว่า ๓ ปี สำหรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทั้งหมด

๓.  กรณีนักเรียนที่ขาดสอบ  (O-NET) เนื่องจากภาวะการเจ็บป่วย เห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงว่าจะวิธีการเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่นักเรียนที่ขาดสอบเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอย่างไร  เช่น จัดให้มีการสอบ O-NET อีกรอบสำหรับผู้ขาดสอบโดยกำหนดยื่นคำร้องและกำหนดวันสอบรอบใหม่สำหรับผู้ที่ขาดสอบให้ชัดเจน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน แต่ควรคำนึงถึงเหตุแห่งการขาดสอบว่าสุดวิสัยหรือไม่  เพียงใด

บทส่งท้าย

หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการรับบุคคลเข้าศึกษาและกำหนดเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ควรจะยึดหลักในกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการดำเนินงานคัดเลือกเป็นสำคัญ  ตลอดจนควรสร้างความเป็นธรรมและมีวิธีการดำเนินงานที่โปร่งใส ให้เกิดขึ้นแก่สังคมให้มากที่สุด  ซึ่งอาจจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเกณฑ์การคัดเลือกหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ  อย่างน้อยก็เป็นการโยนหินถามทางว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร แตกต่างหรือเหมือนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดไว้หรือไม่  เพื่อจะได้หาทางออกและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกบ้างไม่มากก็น้อย  ทั้งนี้  ความคิดเห็นดังกล่าวต้องอยู่ภายในกรอบแห่งกฎหมายว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยด้วย

นุชนาท   สุทธิปัญญา    งานรับเข้าศึกษา

Tags:
เรื่องก่อนหน้า

เรื่องถัดไป


Leave a Reply